Home | เกี่ยวกับบริษัทฯ | ความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ | สถานที่ติดต่อบริษัทฯ
You are here >> Home >> ความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ >> การวิเคราะห์ภาระงานและกำหนด/ปรับปรุงตำแหน่งงาน
การวิเคราะห์ภาระงานและกำหนด/ปรับปรุงตำแหน่งงาน
 

คำว่า ‘งาน’ (Job) มีประวัติความเป็นมาย้อนหลังไปหลายศตวรรษ   ‘งาน’  ในยุคแรกมิได้หมายถึง ‘ตำแหน่งงาน’ ในองค์กรต่างๆดังเช่นในปัจจุบันแต่เกิดจากความจำเป็นในชีวิตประจำวันของมนุษย์  ‘งาน’ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกตามหมู่บ้านชุมชน โดยขยายตัวขึ้นจากกิจกรรมการผลิตเพื่ออุปโภคบริโภคในครัวเรือน กลายเป็นงานช่างแขนงต่างๆ อาทิ ช่างทอผ้า ช่างเหล็ก ช่างผลิตและซ่อมเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ฯลฯ เป็นกิจกรรมเพิ่มเติมขึ้นจากงานเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ที่ทำกันอยู่ก่อนนั้น   ต่อมา ในคริสตศตวรรษที่ 19  การปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลกตะวันตกได้ก่อให้เกิด ‘งาน’ ผุดขึ้นเป็นจำนวนมากตามโรงงานต่างๆ จนกลายเป็นวิถีการครองชีพของคนส่วนใหญ่แทนงานเกษตรกรรม ชีวิตอันราบเรียบของการทำงานในโรงงานนี้ค่อยๆปรับมาสู่ชีวิตการทำงานในยุคปัจจุบันซึ่งทวีความกดดันเร่งรีบขึ้นอันเป็นผลจากกระบวนการผลิต การขนส่งสินค้า การให้บริการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ฯลฯ ที่ทวีปริมาณและความซับซ้อนขึ้นตามลำดับ องค์กรต้องปฏิบัติงานและตัดสินใจอย่างรวดเร็วขึ้น ในบางครั้งตำแหน่งงานแบบเดิมไม่คล่องตัว ไม่อาจปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับโอกาสหรือภัยคุกคามที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในบริบทใหม่ หลายองค์กรจึงเริ่มหันมาใช้วิธีการจ้างงานตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน การจ้างพนักงานชั่วคราว การจ้างเหมาหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก ฯลฯ ในบางองค์กรวิธีการแบบเดิมที่ดำเนินการทุกอย่างด้วยตนเองนั้นไม่อาจแข่งขันได้หรือไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กรในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป องค์กรจึงเริ่มจำกัดสิ่งที่จะดำเนินการเองลงเหลือเพียงเรื่องที่ตนมีความถนัดเป็นพิเศษ และว่าจ้างหน่วยงาน/บุคคลภายนอกให้รับดำเนินการในเรื่องที่ตนไม่มีความถนัดแทน  ส่งผลให้ต้องลดกำลังคนและเกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นๆตามมา อาทิ การปรับระบบบริหารจัดการองค์กร และทรัพยากร การปรับตำแหน่งงาน การทบทวนปรับปรุงภาระหน้าที่รับผิดชอบประจำตำแหน่งงาน ตลอดจนคุณสมบัติและผลงานที่คาดหวังจากผู้ดำรงตำแหน่ง ฯลฯ
 
ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันยังทำให้องค์กรสามารถย้ายฐานธุรกิจไปอยู่ ณ ที่ใดๆก็ได้ในโลก ปรากฏการณ์นี้กำลังผลักดัน ‘งาน’ ไปสู่ยุคที่ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่ในอาคารสำนักงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะอีกต่อไป กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องสนับสนุนการดำเนินกิจการในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองที่กดดันให้องค์กรต่างๆจำเป็นต้องประหยัดเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆลงอย่างสุดความสามารถเพื่อความอยู่รอด  การเปลี่ยนแปลงนี้กระทบต่อชีวิตการทำงานในอาคารสำนักงานอันเป็นชีวิตที่คนจำนวนมากยังคุ้นชิน คนทำงานสมัยใหม่จำนวนไม่น้อยจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกรอบวิธีคิดเกี่ยวกับงานของตน ละทิ้งความเคยชิน สร้างนิสัยและความเคยชินใหม่ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน  นอกจากนี้ ในบางองค์กร ‘ตำแหน่งงาน’ ก็เริ่มไม่มีขอบเขตชัดเจนแต่ทุกคนต้องมุ่งผลงานของตนเป็นสำคัญ คนทำงานเหล่านี้อาจรายงานความคืบหน้าของงานต่อทีมงานซึ่งตนเป็นสมาชิกอยู่ ในแต่ละทีมทุกคนจะได้รับมอบหมายงานที่เกินขีดความสามารถที่จะปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยลำพัง จึงต้องร่วมมือกับสมาชิกอื่นในทีม หากสมาชิกคนหนึ่งคนใดทำงานในส่วนของตนไม่สำเร็จก็จะกระทบผลงานของทั้งทีมด้วย  ดังนั้น นับวันผลงานขององค์กรก็จะยิ่งเป็นผลจากการทำงานเป็นทีมงานหมู่คณะโดยสมาชิกจากที่ต่างๆกันมากขึ้น คนทำงานต้องสามารถปรับเปลี่ยนจุดสนใจจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว ต้องสามารถปฏิบัติงานร่วมกับผู้คนจากต่างสาขาอาชีพและทัศนคติวิธีคิด อีกทั้งต้องสามารถปฏิบัติงานในหลายโครงการ/คณะทำงานไปพร้อมๆกันได้  ต้องพร้อมจะโยกย้ายจากโครงการ/คณะทำงานหนึ่งไปสู่อีกคณะหนึ่งภายในองค์กร ตลอดจนย้ายจากองค์กรหนึ่งไปสู่อีกองค์กรหนึ่งได้บ่อยครั้งกว่าที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม การจ้างงานตลอดชีวิต (Life-time Employment) ได้กลายเป็นอดีตไปแล้วโดยสิ้นเชิง

ในอีกแง่มุมหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดทางเลือกใหม่แก่คนทำงานนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาให้แก่องค์กรใดองค์กรหนึ่งเช่นที่ปฏิบัติมาแต่เดิม อาทิ การทำงานที่บ้านและเชื่อมต่อกับสำนักงานด้วยเครือข่ายโทรคมนาคม (Telecommuting)  การก่อตั้งกิจการของตนเอง การประกอบอาชีพอิสระ การทำงานไม่เต็มเวลา การรับงานมาทำที่บ้านพร้อมดูแลครอบครัวไปด้วย เป็นต้น หากพิจารณาจากมุมมองของคนในองค์กรแบบเดิม วิถีชีวิตเช่นนี้ก็คือชีวิตที่เผชิญความไม่แน่นอนในอาชีพ แต่หากพิจารณาตามสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน คนทำงานทุกคนก็ล้วนต้องเผชิญกับความจริงข้อนี้ เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วการจะมีงานทำหรือไม่ก็ย่อมขึ้นอยู่กับว่าองค์กรที่ตนทำงานอยู่นั้นอยู่รอดหรือไม่ ด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้ คนทำงานจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มพัฒนากรอบวิธีคิด วิธีการทำงาน วิธีการสร้างเสริมศักยภาพของตน วิธีการบริหารเส้นทางก้าวหน้าในอาชีพ ตลอดจนแผนการดูแลสุขภาพ แผนเงินออมและการเงินในวัยเกษียณ  ฯลฯ ของตนด้วยตนเองอย่างแข็งขันแทนการไว้วางใจมอบหมายให้องค์กรนายจ้างเป็นผู้ดำเนินการให้เช่นแต่เดิม  ส่วนองค์กรที่มีวิสัยทัศน์และมีการเตรียมตัวเพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ก็จะร่วมมือกับคนในองค์กรของตนสร้างสัมพันธภาพรูปแบบใหม่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ ‘ประโยชน์’ ดังกล่าวก็จะแตกต่างจาก ‘ประโยชน์’ รูปแบบเดิม กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ยังคงวิวัฒนาการไปอย่างไม่หยุดยั้งจนกลายเป็นวิถีใหม่ในหลายภาคส่วนของสังคมไปแล้ว แม้การเปลี่ยนแปลงจะยังไม่ลงตัวโดยสมบูรณ์ แต่องค์กรทั้งหลายต่างก็มุ่งหน้าไปบนเส้นทางนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

JobChampion การวิเคราะห์ภาระงานและกำหนด/ปรับปรุงตำแหน่งงานโดย  Signature Solutions

JobChampion ประกอบด้วยกรอบความคิด กรรมวิธี และเครื่องมือการวิเคราะห์งานที่มุ่งตอบสนองความจำเป็นขององค์กรและผู้ปฏิบัติงานในโลกของงานยุคใหม่ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วและหลากหลายทั้งที่เกิดภายในองค์กรและในบริบทแวดล้อมรอบด้านอย่างครบวงจร จึงได้รับการออกแบบมาให้ครอบคลุม 3  ขั้นตอนงานหลักในกระบวนการวิเคราะห์ภาระงานและกำหนด/ปรับปรุงตำแหน่งงาน (Job Analysis and Job Design/Re-design) ได้แก่
 


JobChampion กระบวนวิธีการวิเคราะห์ภาระงาน และกำหนด/ปรับปรุงตำแหน่งงานอย่างครบวงจรโดย Signature Solutions
 
  1. Job Classification – การจัดกลุ่มงานและสายงาน คือการจำแนกประเภทตำแหน่งงานตามเกณฑ์ที่พิจารณาแล้วว่าจะสามารถสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนกลยุทธ์ขององค์กร ตลอดจนการบริหารจัดการองค์กรและทรัพยากรบุคคลอันเป็นลักษณะเฉพาะขององค์กรนั้นๆได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น จำแนกเป็นภารกิจหลักด้านต่างๆที่สนับสนุนการบรรลุพันธกิจเป้าหมายขององค์กร จำแนกตามลักษณะงาน จำแนกตามประเภทความรู้และทักษะที่จำเป็นในงาน ฯลฯ
  2. Job Profiling – การกำหนดกรอบบทบาทงาน ขนาด และขอบเขตภาระงานโดยสังเขป โดยพิจารณาวัตถุประสงค์เป้าหมายหลักของตำแหน่งงานภายใต้ ‘บริบทใหญ่’ ขององค์กรอันได้แก่ วิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนกลยุทธ์องค์กร ตลอดจน ‘บริบทย่อย’ อันได้แก่ขอบเขตลักษณะงานของกลุ่มงานและสายงานที่ตำแหน่งงานนั้นดำรงอยู่
  3. Job Analysis – การวิเคราะห์/กำหนดภาระงาน กิจกรรมงานประจำตำแหน่ง รายการผลลัพธ์ที่มุ่งหวัง เกณฑ์วัดความสำเร็จประจำตำแหน่งงาน ตลอดจนขอบเขตข้อกำหนดอื่นๆเกี่ยวกับแต่ละตำแหน่งงานในรายละเอียด ผลลัพธ์รายการหนึ่งจากการปฏิบัติงานในขั้นตอนนี้จึงได้แก่เอกสารบรรยายลักษณะงานประจำตำแหน่งงานที่ได้รับการศึกษาวิเคราะห์
JobChampion - คุณลักษณะที่โดดเด่น
 
JobChampion ทำให้การจัดทำเอกสารบรรยายลักษณะงาน (Job Description) ให้เป็นเรื่องง่าย ยืดหยุ่นคล่องตัว ทันเหตุการณ์ แต่ครอบคลุมสาระสำคัญของงานอย่างครบถ้วน ใช้ได้ทั้งเพื่อการออกแบบตำแหน่งงานใหม่ หรือปรับปรุงทบทวนภาระงานของตำแหน่งงานเดิมในองค์กร

JobChampion มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดทำเอกสารบรรยายลักษณะงานเท่านั้น แต่ยังช่วยองค์กรกำหนด ‘ภาพ’ที่ชัดเจนเกี่ยวกับตำแหน่งงานต่างๆ อาทิ ระดับและขอบเขตความรับผิดชอบในภาระงาน ปฏิสัมพันธ์ที่จำเป็นกับตำแหน่งงานเพื่อให้งานสัมฤทธิ์ผล ประเภท และระดับของคุณวุฒิคุณสมบัติที่จำเป็นของผู้ดำรงตำแหน่ง ฯลฯ การวิเคราะห์ภาระงาน/กำหนด/ปรับปรุงตำแหน่งงานโดยใช้ JobChampion จึงเน้นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างคณะทำงาน/ผู้แทนตำแหน่งงานในองค์กรและที่ปรึกษา โดยให้ความสำคัญแก่ข้อมูลและบริบทเฉพาะขององค์กร หน่วยงาน และตำแหน่งงานนั้นๆa.

JobChampion สนับสนุนการสื่อสารสร้างความเข้าใจในกรอบแนวคิด มุมมองและเจตนารมณ์ของ ‘ตำแหน่งงาน’ ในองค์กรสมัยใหม่แก่บุคลากรโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งงาน เพื่อช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ในงาน การบรรลุเป้าหมาย ตลอดจนเสริมสร้างโลกทัศน์ที่ยืดหยุ่น พร้อมปรับตัว เรียนรู้เพื่อพัฒนางานและพัฒนาตนอยู่เสมอ

JobChampion ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยองค์กรในการ ‘มองภาพใหญ่’ และ ‘มองการณ์ไกล’ ในงานบริหารจัดการองค์กรและทรัพยากรบุคคลได้ด้วย โดยเฉพาะการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมสอดคล้องระหว่างตำแหน่งงานกับบริบทที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผังโครงสร้างองค์กร กระบวนงาน การจัดประเภทงาน กลุ่มงาน สายงาน ระดับชั้นงาน ระบบการกำหนดและบริหารสัมฤทธิผลตามเป้าหมายประจำตำแหน่งงาน ระบบการสั่งสมและบริหารจัดการความรู้ภายในองค์กร ระบบเส้นทางก้าวหน้าในสายอาชีพ ระบบการวางแผนกำลังคนทดแทนในตำแหน่งงานสำคัญ เป็นต้น

หากท่านต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
บริษัท ซิกเนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด
ที่อยู่: 242/23 ซอยวิภาวดีรังสิต 82
ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง
กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์: (662) 041-4500-1
โทรสาร: (662) 041-4502
Website: www.signature4u.com
Email: info@signature4u.com
Facebook: https://www.facebook.com/signature4u
Copyright © 2021 Signature Solutions Limited | All Rights Reserved